กฎหมายน่ารู้

งานนิติการ

ฝ่ายบริหารทั่วไป  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร

 
หน้าแรก
งานนิติการ

 

หลักการเก็บพยานวัตถุในทางนิติเวชศาสตร์ Principle of Material Evidence Collecting in Forensic Medicine
 
โดย นพ.วิสูตร   ฟองศิริไพบูล์

              แพทย์ จะต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเรื่องพยานหลักฐานอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่ตนเองอาจไม่ต้องการที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากสภาพแห่งการประกอบวิชาชีพของแพทย์เอง เช่น การที่แพทย์เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพซึ่งอาจพบหรือเก็บพยานหลักฐานจากศพ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเนื้อจากศพ หรือติดมากับศพ หรือพยานหลักฐานจากศพไม่ว่าจะเป็นเนื้อตัวร่างกายของผู้ป่วย หรือที่ติดมากับร่างกายของผู้ป่วย

ประเภทของพยานหลักฐานตามตำแหน่งที่ตรวจพบอย่างง่าย
              พยานหลักฐานสามารถแบ่งตามตำแหน่งที่ตรวจพบหรือพบได้ ดังนี้
              1. ส่วนของศพ ส่วนของผู้ป่วยหรือวัตถุที่ติดมาในอวัยวะภายในตั้งแต่ใต้ชั้นผิวหนัง หมายถึง พยานหลักฐานที่อยู่ลึกกว่าชั้นใต้ผิวหนัง หรือวัตถุที่ทะลุทะลวงลึกลงไปใต้ผิวหนัง ในส่วนนี้ประกอบด้วย
              ก. ส่วนของศพ เป็นส่วนประกอบของร่างกายมนุษย์ ทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส
              ข. ส่วนที่ติดอยู่ในเนื้อเยื่อของศพ เช่น ส่วนที่ฝังตัวในกล้ามเนื้อ อยู่ในกระเพาะอาหาร อยู่ในสมอง อาจเป็นวัตถุจากภายนอกที่ทะลุทะลวงผ่านผิวหนังเข้ามา หรืออาจเป็นส่วนที่อยู่ในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ เป็นต้น
              2. ส่วนที่ติดอยู่ที่ผิวหนัง หรือส่วนภายนอกร่างกาย หมายถึง พยานหลักฐานที่ติดอยู่กับผิวหนัง หรือวางนาบอยู่กับผิวหนัง รวมถึงที่ตกอยู่ข้างร่างกายด้วย อาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นพยานหลักฐานที่ติดอยู่กับร่างกายหรือนอกร่างกายก็ได้
              พยานหลักฐานทั้งสองส่วนนี้เป็น 'วัตถุพยาน' ที่เป็นวัตถุทั่วไป ซึ่งอาจเป็นชีววัตถุ (biological evidence) หรืออชีววัตถุ (non-biological evidence) ก็ได้ หรืออาจเข้าข่ายวัตถุพยานที่มีความสำคัญยิ่งในทางคดี เพราะเป็น 'อาวุธหรือส่วนของอาวุธ' ก็ได้ หรืออาจเป็นวัตถุพยานประเภทใด ๆ ก็ได้

วิธีการเก็บวัตถุพยาน
              วิธีการเก็บวัตถุพยาน 
              วิธีที่จะเก็บวัตถุพยานเพื่ออาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ คือ 
              1. เก็บในรูปแช่แข็ง 
              สิ่งที่อาจเก็บในรูปแช่แข็งที่สมควรเก็บ เช่น 
              ก. เลือด 
              ข. ชิ้นเนื้อของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ตับ ปอด หัวใจ สมอง เป็นต้น 
              ค. ปัสสาวะ 
              ง. อาหารในกระเพาะอาหาร 
              จ. สารน้ำต่าง ๆ 
              การ เก็บในรูปแช่แข็งจะมีประโยชน์มาก เพราะจะเสมือนกับว่าได้มีพยานหลักฐานสดใหม่อยู่ตลอดเวลา การแช่แข็งที่ใช้มักจะเก็บภายใต้อุณหภูมิ -20 ถึง -85 องศาเซลเซียส1,2 จะทำให้เนื้อเยื่อหรือน้ำหลั่งต่าง ๆ ของร่างกายคงสภาพเดิมอยู่ได้ และสามารถใช้ในการตรวจวิเคราะห์เมื่อถึงคราวจำเป็นได้ตลอดเวลา การเก็บในรูปนี้ถือว่าดีมาก เพราะไม่มีน้ำยา (preservative) ใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องปนกันเนื้อเยื่อเลย ทำให้สามารถตรวจหากรณีที่สงสัยว่าจะมีสารพิษในเนื้อเยื่อหรือน้ำหลั่งที่ เก็บไว้ได้ เช่น สงสัยว่าจะมีการใช้ยาเสพติดก่อนการตาย ก็อาจนำเอาน้ำหลั่ง (เลือด) หรือปัสสาวะมาทำการตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจหาสารเสพติด เช่น มอร์ฟีน กัญชา ฯลฯ ได้เลย และจะได้ผลถูกต้องด้วย3,4 หรือในกรณีที่การตรวจชิ้นเนื้อที่ต้อง การตรวจโดยเนื้อเยื่อที่สด ๆ เช่น การตรวจหาเอมโบลิซึมไขมัน (fat embolism) หรือเอมโบลิซึมไขกระดูก (bone marrow embolism) การแช่แข็งจะเป็นการเก็บเนื้อเยื่อได้ดีที่สุด แต่การเก็บโดยแช่ในฟอร์มาลีน ในปัจจุบันนี้ก็อาจใช้ตรวจได้เช่นเดียวกัน โดยใช้สาร Osmium tetroxide5 ซึ่งนับเป็นการพัฒนาการตรวจพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง 
              ข้อ พึงระวังในการเก็บวัตถุพยานโดยการแช่แข็งคือ จะต้องให้สถานที่เก็บดังกล่าวมีอุณหภูมิตามที่ได้ตั้งค่าไว้อย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ ต้องพึงระวังในเรื่องไฟฟ้าดับ หรือเครื่องทำความเย็นเสีย เพราะจะทำให้วัตถุพยานซึ่งแช่ไว้อาจเน่าสลายได้ อาจแก้ไขโดยมีระบบเครื่องทำความเย็นเป็น 2 ชุด และมีระบบไฟฟ้าสำรองด้วย เพื่อกันการดับหรือตกของไฟฟ้า 
              2. เก็บในรูปการแช่ในน้ำยาฟอร์มาลีน 
              เป็น การเก็บเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด สมอง ฯลฯ เพื่อที่จะมีการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ต่อไปได้ การเก็บโดยวิธีนี้จะดีเพราะเป็นการเก็บที่ง่าย เพียงแช่เนื้อเยื่อที่ต้องการเก็บไว้ใน 10% ฟอร์มาลีนเท่านั้น เมื่อเวลาต้องการใช้ก็นำมาตัดและย้อมด้วยน้ำยาย้อมชิ้นเนื้อได้เลย เช่น ย้อมโดย haematoxylin and eosin (H&E), Sudan III or IV Stain เป็นต้น 
              3. เก็บในรูปแห้ง 
              เป็น การเก็บพยานหลักฐานที่ไม่ต้องใช้น้ำยาอะไรเลย และไม่ต้องมีการปรับอุณหภูมิด้วย คือเก็บที่อุณหภูมิห้องธรรมดานี้เอง วัตถุพยานประเภทนี้ ได้แก่ วัตถุพยานที่ไม่มีการเสื่อมสลายที่อุณหภูมิที่เก็บ ยังคงมีสภาพเดิม สามารถนำมาใช้ในการตรวจทางวัตถุพยานได้เมื่อมีความจำเป็นต้องทำการตรวจทาง วัตถุพยาน เช่น 
              3.1 เก็บในรูปสารดังกล่าว 
              ก. เส้นผมหรือขน มีความคงทนเป็นอย่างมาก แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานนับ 100 ปี แต่ก็ยังที่จะสามารถใช้ในการตรวจวิเคราะห์เป็นวัตถุพยานได้ เช่น หมู่เลือด6 และสารพิษบางอย่าง ถ้าได้รับสารอย่างเรื้อรัง (ค่อย ๆ ได้รับทีละน้อย) จะมีการสะสมไว้ในเส้นผมก็จะสามารถตรวจหาได้ 
              ข. เล็บ มีความคงทนมาก และมีสารหลายตัวที่อาจสะสมในเล็บได้ เช่น อาร์เซนนิก ตะกั่ว พลวง เป็นต้น เมื่อมีการสงสัยกรณีที่ถูกสารพิษดังกล่าวก็อาจนำเล็บมาทำการตรวจวิเคราะห์ ได้ รวมถึงการตรวจหาหมู่เลือดในเล็บด้วย7,8,9,10 แม้ว่าจะเก็บไว้นานแล้วก็ตาม
              ค. กระดูกและฟัน มีความคงทน สามารถเก็บในรูปสารดังกล่าวได้ ไม่ต้องมีวัสดุอื่นใดช่วยในเรื่องการเก็บ และสามารถใช้ตรวจหาหมู่เลือดได้11 
              จ. ผิวหนังที่แห้งหรือรังแค เก็บในรูปนั้นเลย ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจหาหมู่เลือดทั้ง ABO และ MN ได้12 
              ฉ. คราบเลือดหรือเลือดที่แห้ง สามารถเก็บในรูปนั้นได้เลย และสามารถนำมาตรวจหาหมู่เลือดได้13 
              3.2 เก็บในรูปการป้ายและดูดซับไว้ 
              ก. น้ำอสุจิและตัวอสุจิ มีความคงทน กรณีหญิงที่สงสัยว่าจะถูกข่มขืนกระทำชำเราอาจป้ายของเหลวในช่องคลอดเพื่อการ ตรวจได้ หรืออาจไม่ตรวจแต่ป้ายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน อาจนำมาตรวจเมื่อใดก็ได้ ตัวอสุจิจะอยู่ในวัสดุที่ป้ายดังกล่าวทนนาน จะต้องการตรวจเมื่อใดก็นำมาสกัดทำการตรวจได้14,15 นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาหมู่เลือด ABO ได้ในคราบของเหลวจากช่องคลอดด้วย13 
              ข. เลือด อาจเก็บในรูปของคราบเลือดก็ได้ โดยมีการป้ายไว้ แต่คุณสมบัติของเลือดจะสูญเสียไปหลายอย่าง แต่การเก็บในรูปของคราบเลือดสามารถตรวจพิสูจน์หมู่เลือดได้หลายชนิด13,16 และจะสู้การเก็บโดยการแช่แข็งไม่ได้ 
              ค. น้ำหลั่งหรือสารน้ำต่าง ๆ อาจเก็บไว้ในรูปของการป้ายเก็บได้ โดยใช้ไม้พันสำลีซับบริเวณที่มีน้ำหลั่งหรือสารน้ำนั้น ๆ แล้วเก็บไว้ในถุงพลาสติก
              ง. ของเหลวปริมาณน้อย อาจเก็บในรูปของการป้ายเก็บได้ เช่น การป้ายเก็บมากับสำลีหรือผ้าก๊อซ 
              จ. คราบที่ติดตามตัวหรือวัตถุ อาจเก็บในรูปของการป้ายมาได้ เช่น การเก็บเขม่าปืนที่ติดตามร่างกาย อาจใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือ 0.9% หรือ 1% HCl หมาด ๆ แล้วป้ายบริเวณที่สงสัย เช่น ฝ่ามือ หลังมือ ง่ามนิ้วมือ เป็นต้น แล้วเก็บไม้พันสำลีดังกล่าวไว้ในถุงพลาสติกที่สะอาด
              4. เก็บด้วยวิธีพิเศษ 
              เป็นการเก็บโดยวิธีการเฉพาะ เช่น สารที่เป็นกัมมันตภาพรังสี จะ ต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บโดยเฉพาะเพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหลของ สารกัมมันตภาพรังสี อีกทั้งผู้ที่เก็บจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญอย่างมาก เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อผู้ที่เก็บ และเพื่อประโยชน์ต่อการตรวจพยาน หลักฐานนั้น ๆ 
              5. การเก็บวัตถุพยาน ในรูปแบบการบันทึก 
              การ เก็บในลักษณะนี้อาจเก็บในรูปของภาพถ่าย ภาพยนตร์ วิดีโอ (วีดิทัศน์) หรือการบันทึกอื่น ๆ การเก็บลักษณะนี้เป็นการดีเพราะง่ายต่อการเก็บ ทำให้เห็นภาพพจน์และสภาพที่เป็นจริงของพยานหลักฐานเกือบเหมือนกับการที่ได้ เห็นของจริงในเวลาที่แพทย์ได้ประสบเลยทีเดียว ผู้เขียนขอแนะนำเรื่องการถ่ายภาพว่าสมควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมา ณ หน่วยอุบัติเหตุ และมีบาดแผลค่อนข้างรุนแรง เช่น อวัยวะฉีกขาดต้องทำการผ่าตัดด่วน ยิ่งถ้าจะต้องทำการตัดแขนขาผู้ป่วยแล้วต้องทำการถ่ายภาพเสมอ เพื่อเป็นการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ

กรณีสงสัยทางพิษวิทยา
              I. การเก็บสิ่งที่จะใช้ส่งตรวจ 
              1. จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 
              หมายถึง สงสัยว่าผู้ตายได้รับสารพิษ และต้องการเก็บวัตถุพยานเพื่อทำการตรวจ สามารถเก็บได้จาก 
              1.1 น้ำหลั่งหรือสารน้ำ เช่น เลือด น้ำปัสสาวะ น้ำดี น้ำในลูกตา น้ำไข สันหลัง น้ำหลั่งอื่น ๆ รวมถึงของเหลวในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ในช่องท้อง ช่องอก ของเหลวจากทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้ 
              1.2 ชิ้นเนื้อ เช่น ตับ ไต ปอด หัวใจ สมอง และอื่น ๆ 
              2. จากภายนอกร่างกาย 
              หมาย ถึง สารพิษที่ติดมากับร่างกาย หรือตกอยู่ข้างตัวผู้ตาย ไม่ว่าจะติดมาในรูปแบบของคราบ สารน้ำของเหลว หรือใส่ในภาชนะที่ติดมากับตัวผู้ป่วยหรือผู้ตาย 
              II. หลักการเก็บ 
              มัก จะเก็บให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใส่ในภาชนะหรือวัสดุที่ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีใด ๆ จึงไม่สมควรที่จะใส่สารใด ๆ เพื่อมิให้เกิดการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นสารกันแข็งตัวของเลือด สารกันบูด หลักโดยทั่ว ๆ ไปเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 
              III. การตรวจทางพิษวิทยาที่สำคัญ
              การตรวจทางพิษวิทยาที่สำคัญ และพบบ่อยมาก เช่น
              ก. แอลกอฮอล์
              1. เจาะเลือด 2.5 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดที่มีสารโซเดียมฟลูออไรด์ แล้วผสมให้เข้ากัน และควรผนึกฝาให้แน่น เพื่อป้องกันการระเหย
              2. การเจาะเลือดห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดผิวหนัง เพราะอาจมีผลต่อการวิเคราะห์ได้ แนะนำให้ใช้น้ำยาโพวิโดนไอโอดีนแทน 
              ข. สารระเหย
              1. ใช้เลือดประมาณ 2.5 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดที่มีสารโซเดียมฟลูออไรด์แล้วผสมให้เข้ากัน และปิดผนึกฝาหลอดให้แน่น เพื่อป้องกันการระเหยของสารที่จะตรวจ
              2. ถ้าต้องการตรวจจากปัสสาวะ ให้ใช้ปัสสาวะประมาณ 60 มิลลิลิตร หรือมากกว่านี้
              3. ถ้าเป็นของเหลวจากในกระเพาะอาหาร ให้ใช้ประมาณ 60 มิลลิลิตร หรือมากกว่านี้
              ค. คาร์บอนมอนอกไซด์
              ให้ใช้เลือดประมาณ 2.5 มิลลิลิตรใส่ในหลอดที่มีโซเดียมฟลูออไรด์ แล้วผสมให้เข้ากัน
 

                                                              ง. ยา
                                                              1. เลือดใช้ประมาณ 5-10 มิลลิลิตร โดยใช้สารกันเลือดแข็งตัวอย่างหนึ่งอย่างใด
                                                              2. ปัสสาวะใช้อย่างน้อย 60 มิลลิลิตร
                                                              3. ของเหลวจากในกระเพาะอาหารใช้ปริมาณอย่างน้อย 60 มิลลิลิตร
                                                              จ. สารเสพติด
                                                              1. ใช้เลือด Clotted blood ประมาณ 10 มิลลิลิตร
                                                              2. ปัสสาวะใช้อย่างน้อย 60 มิลลิลิตร
                                                              3. ของเหลวจากกระเพาะอาหารใช้อย่างน้อย 60 มิลลิลิตร
                                                              ฉ. โลหะ
                                                              1. ใช้เลือด (Clotted blood) ประมาณ 5-10 มิลลิลิตร โดยใช้สารกันเลือดแข็งตัวอย่างหนึ่งอย่างใด
                                                              2. ปัสสาวะอย่างน้อย 60 มิลลิลิตร
                                                              3. ของเหลวจากกระเพาะอาหารใช้ประมาณ 60 มิลลิลิตร
                                                              ช. ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า
                                                              1. ใช้เลือด (Clotted blood) ประมาณ 10 มิลลิลิตร เพื่อหา Serum Cholinesterase
                                                              2. ปัสสาวะใช้อย่างน้อย 60 มิลลิลิตร
                                                              3. ของเหลวจากกระเพาะอาหารใช้ประมาณ 60 มิลลิลิตร
             
เอกสารนำส่งกำกับมากับวัตถุพยาน
              วัตถุพยานที่ทำการส่งตรวจสมควรอย่างยิ่งต้องมีเอกสารนำส่งเพื่อกำกับวัตถุพยาน สมควรที่จะต้องประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
              ก. ชื่อ สกุล อายุ เพศ เชื้อชาติของผู้ป่วยหรือศพ
              ข. ประวัติของศพหรือผู้ป่วยเท่าที่จะทำได้ เช่น การเจ็บป่วย การรักษา 
              ค. ลักษณะของวัตถุที่นำส่งเพื่อการตรวจ เช่น เป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส
              ง. การปนเปื้อน หรือใส่สารอื่นประกอบด้วยหรือไม่
              จ. วัน เวลาที่ทำการเก็บพยานหลักฐาน
              ฉ. ตำแหน่งที่เก็บพยานหลักฐาน
             
สรุป
              วัตถุ พยานนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในทางคดีต่าง ๆ แพทย์ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการตรวจ เก็บ ส่ง และแปลผลวัตถุพยาน จึงสมควรทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้มาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางคดีนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง
              1. Gerhardsson L, Brune D, Lundstrom NG, et al. Biological specimen bank for smelter workers. Sci Total Environ 1993; 139-140:157-73. 
              2. Kemper FH. Human organ specimen banking- 15 years of experience. Sci Total Environ 1993; 139-140:3-25. 
              3. Maurer DW, Vogel VH. Narcotics and naroctic addiction. Springfield: Charles C Thomas, 1967. 
              4. Stewart CP, Stolman A. Toxicolgy: Mechanism and analytical methods: Volume I. New York: Academic Press, 1960. 
              5. Davison PR, Cohle SD. Histologic detection of fat emboli. J Forensic Sci 1987 Sep; 32(5):1426-30. 
              6. Tonada N, Kashimura S, Kaguera M, Hara K. Practical GC/MS analysis of oxidation dye components in hair fiber as a forensic investigative procedure. J Forensic Sci 1999; 44(2) Mar:292-6.
              7. Garg RK. Determination of ABO(H) blood group specific substances from fingernails. Am J Forensic Med Pathol 1983 June; 4(2):143-4. 
              8. Garg RK. Determination of ABO(H) blood group substances from finger and toe nails. Z Rechtsmed 1983; 91(1):17-9. 
              9. Schajpal PK. Determination of A and B group antigens in human finger and toe nails. Arch Kriminol 1982 Mar-Apr; 169(3-4):114-9. 
              10. Tomita M, Okuyama T, Shimosato K, Ijiri I. Studies on ABO grouping of fingernails I. The Importance of fingernails in determining ABO blood groups. Nippon Hoigaku Zasshi 1985 Apr; 39(2):105-12.
              11. Gurtovaia SV, Bliznetsova VI, Revnitskaia LA, et al. The detection of ABO system antigens in bone, nail and tooth fragments. Sud Med Ekspert 1999 Oct-Dec; 39(4):23-5. 
              12. Guth P. Determination of ABO and MN blood group properties from dried skin and fingernails. Arch Kriminol 1978 Nov-Dec; 162(5-6):176-8. 
              13. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. การตรวจหญิงในคดีทางเพศ. นิตยสารโรงพยาบาลกลาง 2529; 23:207-20. 
              14. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. การตรวจหญิงในคดีทางเพศ (ต่อ). นิตยสารโรงพยาบาลกลาง 2529; 23:275-87. 
              15. ทรงฉัตร โตษยานนท์, ณรงค์ สิงห์ประเสริฐ. นิติเวชศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519:485. 
              16. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. วัตถุพยานประเภทอาวุธในเวชปฏิบัติ. สารศิริราช 2540; 49:178-86.