เกร็ดความรู้

งานนิติการ

ฝ่ายบริหารทั่วไป  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร

 
หน้าแรก
งานนิติการ

 

ดร.วิชญะ เครืองาม นักกฎหมายผู้เดินตามรอยพ่อ

คอลัมน์ Exclusive Interview

โดย ณฐกร ขุนทอง

หนุ่มวัย 26 ผู้นี้ คือ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ดร.วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายผู้เยี่ยมยุทธ์และศาสตราภิชานแห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีผู้พ่อเป็นแบบอย่าง บางคนบอกว่า เขาแทบจะเดินตามรอยเท้าพ่อด้วยซ้ำ เพราะการเลือกเรียนนิติศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วไปต่อปริญญาโท และปริญญาเอก คว้าดีกรีด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ กลับมาในวัยเพียง 24 กว่าๆ จนได้เป็นนักกฎหมายประจำบริษัท ไวท์ แอนด์ เคส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายเก่าแก่ของอเมริกา ทำให้ใครๆ ก็พากันกล่าวว่าชีวิตของเขาเป็นลูกไม้ที่หล่นใกล้ต้นยิ่งนัก

แม้จะมีชีวิตที่ดูเป็นรูปแบบ แต่ลูกไม้ที่ชื่อ "โอม-ดร.วิชญะ เครืองาม" ผู้นี้ กลับมีเรื่องราวไลฟ์สไตล์ที่อาจจะไม่ได้เหมือนนักกฎหมายผู้คร่ำเคร่งนัก

- ชีวิตการศึกษาของคุณเริ่มต้นอย่างไร

ผมเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา จนถึงมัธยมต้น แล้วมาต่อเตรียมอุดมฯ 2 ปี สอบเทียบเข้านิติศาสตร์จุฬาฯ 4 ปี เสร็จแล้วไปเรียนต่อโทและเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ อยู่ติดกับซานฟรานฯ ผมเรียนโท 9 เดือน รีบเรียน เพราะไปทุนส่วนตัว เอกอีก 2 ปี จบแล้วก็กลับมาเมืองไทย แต่พอมาถึงตอนเมษาฯ 2549 ยังไม่ได้ทำงานเลยนะ กลับมาเที่ยวกับคุณพ่อก่อน เพราะช่วงนั้นคุณพ่อว่างพอดี เที่ยวอยู่ประมาณครึ่งปีแล้วก็เริ่มทำงานประมาณเดือนธันวาคมปี 2549 ตอนนี้ทำงานมา 1 ปีครึ่งแล้วครับ

- ทำไมดูชีวิตการเรียนเร่งรีบจัง

ที่จริงเรียนได้ก็เรียน ตอนจบเอกอายุ 24 ปลายๆ เกือบ 25 คุณพ่อจบเอกประมาณเดียวกับผมนะ (หัวเราะ)

- เป็นเด็กที่มีชีวิตหมกหมุ่นการเรียน

ถ้าดูเกรด ดูไลฟ์สไตล์ จะไม่เชื่อเลยว่าเรียนมาถึงจุดนี้ได้ ผมไม่ใช่เด็กเรียนเลย ผมไม่สนใจเรียน แต่อยากได้เกรดดี ขี้เกียจอ่านหนังสือแต่อยากประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียน ชีวิตเด็กเรียนจริงๆ ต้องอ่านหนังสือ แต่ของผมโดดเรียนก็มีบ้าง

- คุยกับคุณพ่อบ้างไหม เพราะท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย

กับคุณพ่อ ถ้าสงสัยอะไรจะเข้าไปคุยมากกว่าที่จะมานั่งจัดติวอะไรกัน ตอนที่เรียนอยู่ มีเรื่องมาถกกันเกี่ยวกับการเรียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่คุณพ่อจะปล่อยให้ผมไปอ่านเองมากกว่ามานั่งจ้ำจี้ พอดีคุณน้าผมเป็นอาจารย์ด้วย เป็นผู้พิพากษาด้วย มีอะไรก็ถามท่านได้ ถ้ายังไม่เคลียร์ก็คุยกับคุณพ่ออีกทีหนึ่ง ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีคุณพ่อยุ่งๆ พอดีท่านเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตอนผมจบก็เป็นรองนายกรัฐมนตรี คุณพ่อก็ไม่มีเวลามานั่งจ้ำจี้จ้ำไช ก็เลยอ่านเอง หรือไม่ก็ถามเพื่อน ถามอาจารย์

แต่ก็เป็นเชิงได้เปรียบที่คุณพ่อเคยเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ผมเลยรู้จักอาจารย์ที่คณะตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว (หัวเราะ)

- ทำไมไม่สนใจเป็นอาจารย์เหมือนคุณพ่อ

ที่จริงก็สนใจ ผมชอบคุย ชอบติว ชอบสอนมากเลย เพียงแต่คิดว่า ตอนนี้กำลังไฟแรง ยังพอมีแรงที่อยากจะหาประสบการณ์ ผมเรียนในทางทฤษฎีมาค่อนข้างเยอะมาก มาถึงปริญญาเอกไม่เชิงทางตันถือว่าสุดทางของสายทฤษฎี แต่ในเชิงประสบการณ์ชีวิตการนำกฎหมายไปใช้ปฏิบัติจริงๆ แทบไม่มี ผมเองเคยฝึกงานอยู่ที่เบเคอร์แอนด์แมคเคนซีตอนปี 3 ระยะหนึ่งที่เมืองไทยตอนเรียนอยู่จุฬาฯปี 3 เพียงแต่ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพราะเวลามันสั้น ฉะนั้นผมก็เลยคิดว่ากลับมาแล้วหาประสบการณ์ชีวิตดีกว่า เอาเรื่องเอกชนกฎหมายทั้งหลายมาใช้

แต่จริงๆ ก็ตั้งใจจะเป็นอาจารย์เหมือนกัน ไม่ว่าประจำหรือพิเศษนะ

- ดูเหมือนเราจะเอาคุณพ่อเป็นแบบอย่าง ก้าวตามรอยเท้าคุณพ่อเลยหรือเปล่า

ดูคุณพ่อเป็นแบบอย่างพอสมควร ทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิต คุณพ่ออยู่มาหลายรัฐบาลเป็นเวลาร่วมๆ สิบปี ทำงานได้กับคนหลายกลุ่ม ก็ควรจะดูเอาเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว หลายๆ คนก็ยังมองคุณพ่อเป็นตัวอย่างด้วยซ้ำไป ในวงการ ยิ่งผมเป็นนักกฎหมาย เป็นทั้งลูกและลูกศิษย์ด้วย เรียนเนฯก็เรียนกับคุณพ่อ จบจากสถาบันเดียวกัน บางคนบอกว่า...แทบจะเดินตามรอยเท้าคุณพ่อเลย

- เป็นลูกไม้ใกล้ต้นมากๆ

ใกล้มากครับ (หัวเราะ) ดูท่านเป็นตัวอย่าง แต่ผมก็ไม่อยากเดินตามรอยเท้าคุณพ่อซะทีเดียว มีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนคุณพ่อ บางคนมาสัมภาษณ์ผมก็จะบอกว่า ผมไม่เหมือนคุณพ่อ บุคลิก ไลฟ์สไตล์

- ลักษณะงานที่เราทำเป็นอย่างไร

ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทไวท์แอนด์เคส เป็นบริษัทมาจากนิวยอร์ก อเมริกา ตั้งมาร่วมๆ 100 ปีแล้ว อยู่มานานระดับท็อปๆ เพียงแต่เมืองไทยเพิ่งมาบุกเบิกเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็ค่อยๆ โตขึ้นๆ ปกติในลอว์เฟิร์ม จะแบ่งเป็นกรุ๊ปๆ แบงกิ้งไฟแนนซ์,

เอ็มแอนด์เอ (กิจการ), พวกว่าความในคดี หน้าที่ของผมปีที่แล้ว เขาให้เข้าไปให้ดูภาพรวมก่อน ถนัดด้านไหนก็วนๆ สุดท้ายมาลงเกี่ยวกับแบงกิ้งไฟแนนซ์ การเงินการธนาคาร พวกร่างสัญญาเงินกู้ สัญญาประกัน เป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน สัญญาเช่าก็เกี่ยว สัญญาต่อรอง แล้วก็มีโฟร์สซิ่ง เป็นนักกฎหมายที่ทำเกี่ยวกับธุรกรรมทั้งหลาย

- การทำงานกับบริษัทต่างชาติยากไหม

การทำงานทำให้เราได้ใช้ภาษาอังกฤษตลอด อย่างการเขียนจดหมายที่ปกติเวลาแชตกับเพื่อนก็เป็นคำเล่นๆ แต่ตรงนี้ต้องคิดเพราะถ้าอีเมล์ออกไปแล้วจะต้องผูกพันกับเราในอนาคต เพราะว่าเป็นการให้คำแนะนำอย่างหนึ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องปรับความเป็นทางการ และแกรมม่ามากขึ้น จะส่งอีเมล์ไปทีหนึ่งที่บริษัทเขาจะมีอิงลิช รีวิว ให้เขาช่วยดูให้หน่อยจะสื่อสารตรงเกินไปหรือเปล่า เพราะบางอย่างมันจะต้องซอฟต์ อันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนเลยนะว่า คนที่เรียนทฤษฎีมาแล้วทำงาน ผมว่าจะเอาทฤษฎีมาแอปพลายจริงๆ ลำบากมาก การที่จะอธิบายกฎหมายให้ใครคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องฟัง แล้วต้องอธิบายเป็นภาษาฝรั่งด้วย บางทีต้องยกตัวอย่าง บางทีเขาไม่เข้าใจก็ต้องอธิบาย อันนี้เป็นวิธีที่ผมกำลังเรียนรู้มากเลย

- งานดูค่อนข้างเครียด

เครียดกับงานก็เครียด ทีแรกไม่เคยทำงานมาก่อนก็เอามาคิดฟุ้งซ่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ตอนหลังคุยกับพี่ๆ ที่ทำงานหรือคนที่เคยมีประสบการณ์ เขาจะบอกว่า จริงจังกับงานได้นะในเวลานั้น แต่ถ้าเกิดเรากลับมาบ้าน แล้วมาเครียดน่ะ "ไม่เวิร์ก" อยู่ที่ทำงานจึงค่อนข้างคอนเซ็นเทรต แต่บางครั้งก็คุยเล่นกันบ้างนะ

- ทำงานอาทิตย์ละกี่วัน

5 วันครับ น้อยครั้งที่จะมีไปเสาร์-อาทิตย์บ้าง แต่เวลาทำงานก็ไม่แน่นอน บางทีอาจจะมาเช้าเลิกดึก ถ้ารู้ตัวว่า บ่ายจะมีงานก็เตรียมตัวอยู่ดึก อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) ดีว่าทนายไม่มีตอกบัตร เพราะฉะนั้น คล่องตัวมาก แต่ถ้าจะนัดใครตอนเย็น ต้องบอกก่อนเลยว่า ยังไม่คอนเฟิร์มนะ จนกว่าจะบ่าย

- อย่างนี้ก๊วนเที่ยวกลางคืนก็รอเงกเลยสิ

ไม่เชิงรอเงก นัดดึกๆ ได้ พวกเพื่อนๆ เป็นแบบเดียวกันทั้งนั้น (หัวเราะ)

- มีเที่ยวกลางคืนบ่อยไหม

ที่เรียนอยู่ก็เที่ยวมาตลอด ทั้งเมืองนอกและเมืองไทย เที่ยวมาหมด เพียงแต่พอเริ่มทำงาน เที่ยวน้อยลง มีคนเขาบอกว่า "แก่ขึ้นแล้วเที่ยวน้อยลง" อันนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่อยากเชื่อเลยนะว่าเป็นเรื่องจริง ผมรู้สึกว่าแต่ก่อนเราชอบเที่ยวมากไปถึงกินเหล้า แต่ไม่สูบบุหรี่นะ แต่พอถึงจังหวะหนึ่งผมรู้สึกว่าเหนื่อย กินเหล้าแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา ไปกินเหล้านี่เสียสองวันเลยนะคือวันนั้นกับวันรุ่งขึ้น ตื่นมาแฮงอีก ก็เลยลดน้อยลง จนหลังๆ ไม่เที่ยวเลยก็ได้นะ แต่เอ๊ะ ไม่อยากคอมมิตตัวเอง (หัวเราะ)

- แล้วครอบครัวล่ะ

วันไหนกลับมาเร็วก็จะไปทานข้าวกับคุณพ่อคุณแม่ ผมพยายามแบ่งเวลาหนึ่งอาทิตย์ อย่างน้อยต้องมีเวลากี่วันๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ ถ้าอาทิตย์นั้นคุณพ่อคุณแม่ไปต่างประเทศก็ลากยาวหน่อยได้ ไม่ต้องรีบกลับ แต่ถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่อยู่ก็จะพยายามกลับบ้านให้เร็ว

- ทำงานเกี่ยวกับนักกฎหมาย ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา นักกฎหมายถูกสปอตไลต์ฉายเยอะ เราก็อยู่ในฐานะนักกฎหมายด้วย คิดเรื่องการแบ่งขั้วอย่างไร

ใช่ครับ (หัวเราะ) ก็ถ้าจะดูรวมๆ แล้ว คนไทยจบกฎหมายเยอะมาก แต่ละคนมีจิตสำนึก

ทางกฎหมายหรือว่าความรับผิดชอบความรู้ที่แตกต่างกัน ถ้าจะมองก็ต้องมองแยกเป็นบุคคลๆ ไป จะไปมองว่านักกฎหมายพวกนี้มันหัวหมอ ศรีธนญชัย ผมไม่คิดว่าจะแฟร์นะสำหรับคนในอาชีพนี้ทั้งหมด

ที่ผมเลือกเรียนกฎหมายเพราะผมอยากช่วยเหลือคน เรื่องเงินไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการที่สุดในชีวิต บ้านเราก็มี รถก็มี ผมอยากจะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน เพราะเข้าใจว่าคนที่มีปัญหาทางกฎหมายนี่ เดือดร้อนจริงๆ ไม่รู้จะหันไปทางไหน ถ้าเราให้คำตอบเขาได้ ผมรู้สึกดี ไม่ต้องเอาเงินมากองให้ผมหรอก

- แสดงว่ามีคนมาปรึกษาฟรีกับเราเยอะ

พอรู้ว่าเราไม่คิดตังค์ก็เยอะ (หัวเราะ) แต่เราก็โอเคพาไปเลี้ยงข้าวหน่อยนะ โดยมากก็เป็นเพื่อน เพราะเพื่อนก็เริ่มทำธุรกิจกันแล้ว เป็นญาติ คนรู้จัก เพื่อนคุณพ่อบ้าง แต่ผมไม่มั่วนะ (หัวเราะ) อะไรที่ไม่รู้จริงๆ ก็บอกว่าไม่รู้ เพราะประสบการณ์ผมน้อย พวกนี้ถ้าแนะนำผิดนี่เจ๊งเลยนะครับ

- กับกรณีที่อาจารย์วิษณุเคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นเนติบริกร

ทีแรกผมฟังดูไม่เป็นไร ฟังไปมากลายเป็นเรื่องลบ อาชีพนักกฎหมายก็เป็นอาชีพบริการอยู่แล้ว ทุกคนถ้ามีหัวใจบริการก็ทำเต็มที่ คนเราถ้าอยู่ในตำแหน่งที่เป็นพับลิกฟิกเกอร์ ถ้าทำอะไรแล้วให้คุณให้โทษได้ก็จะมี ผมยอมรับการแสดงความเห็นแบบนี้ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะมองในแง่ลบก็ต้องบอกได้ว่า การกระทำของคุณพ่อตรงไหนล่ะ แต่ก็ต้องดูผลกระทบระยะยาวด้วย ตอนนั้นคุณพ่อทำงานเยอะ ค่อนข้างโดดเด่น เป็นมือกฎหมายของรัฐบาล ท่านก็รับหมด ทั้งดีไม่ดี

- แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังวุ่นวายในตอนนี้ล่ะ ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่งมองว่าอย่างไร

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ปกครองประเทศเหนือ พ.ร.บ. พ.ร.ก. พ.ร.ฎ. ทั้งหลาย กฎหมายสูงสุดการออกก็ยาก ต้องอาศัยฉันทามติ และต้องริเริ่มโดยผู้นำที่มีความมุ่งมั่นจริงๆ ต้องไม่มีอคติกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุด เราก็ไม่คิดว่ามันจะแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขยากขนาดที่ว่าอย่าไปแตะต้องมัน เพราะกฎหมายจะต้องมีวิวัฒนาการไปตามสังคม กฎหมายล้มมาแล้วกี่ฉบับ

ผมคิดว่าเราแตะได้ และสามารถแก้ไขได้ จะมากน้อยก็ดูที่ความเหมาะสม เนื้อหา บริบทของสังคมว่าเขาต้องการแบบไหน โดยหลักของรัฐธรรมนูญแตะได้ ที่ผ่านมาผมเห็นว่าไม่มีรัฐธรรมนูญไหนที่เปอร์เฟ็กต์ 100 เปอร์เซ็นต์ไปหมด มีจุดรับไม่ได้บ้างเล็กน้อย เรื่องพวกนี้ต้องระวังหน่อย

- แล้วในตอนนี้วางแผนชีวิตเอาไว้อย่างไรบ้าง

ตอบแบบไม่คิดอะไรมากก็คือ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ตอนนี้เราต้องหาเงินก่อร่างสร้างตัว สุดท้ายก็ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ตอนที่เขียนในข้อเสนอปริญญาเอก ผมบอกว่า อยากจะเป็นอาจารย์เปิดโรงเรียนสอนกฎหมาย เป็นสำนักกฎหมายของอาเซียน ตอนนั้นคุณพ่อเคยพูดถึง คิดว่าถ้าคุณพ่อว่างๆ ก็มาทำด้วยกัน ผมมองว่ากฎหมายในอาเซียนสามารถรวมกันได้นะ อย่างน้อยภาคใต้ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มีอะไรคล้ายๆ กัน กฎหมายปลายทางเดียวกันอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้ชีวิตง่ายขึ้น

- คุณพ่อเคยถามเรื่องการแต่งงานหรือเปล่า

คุณพ่อก็พูดเรื่อยว่า เมื่อไรจะแต่งงาน (หัวเราะ) ผมมองว่ายังไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยิ่งผู้ชายด้วย แต่ก่อนผมไม่เคยคิดเรื่องแต่งงานเลย เรื่องแต่งงานเป็นเรื่องไกลตัว รู้สึกว่าเราอยู่คนเดียวก็มีความสุขแล้ว แต่พอโตขึ้นเพื่อนเริ่มหาย แต่งงาน เริ่มมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราก็คิดไว้สักหน่อยก็ได้นะ แต่ชีวิตตอนนี้ผมยังอิสระอยู่ จะไปไหนอย่างไรผมไม่ต้องโทร.หาใคร ผู้หญิงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าพูดว่าเป็นเรื่องงานก็อาจดูดีเกินไป

ผมว่าเรื่องตัวเองเป็นใหญ่ เอาเวลาไปอ่านหนังสือ เล่นกีฬา และเที่ยวต่างจังหวัดครับ (หัวเราะ) :D (หน้าพิเศษ)