เกร็ดความรู้

งานนิติการ

ฝ่ายบริหารทั่วไป  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร

 
หน้าแรก
งานนิติการ

 


ใยแมงมุมแห่งกฎหมาย

เก้าสิบปีก่อนที่เอเธนส์จะเป็นประชาธิปไตย ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่รุนแรงขึ้น วิกฤตการเมืองที่ว่านี้เกิดจากปรากฏการณ์ทางสังคมสำคัญที่เกิดขึ้นในเอเธนส์ในช่วง 750-600 ก่อนคริสตกาล

นั่นคือ การเพิ่มจำนวนประชากรเป็นสองเท่าในช่วงเวลาเพียงห้าสิบปี และการเพิ่มจำนวนประชากรดังกล่าวนี้เองกลับทำให้เอเธนส์ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ และรวมถึงการไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากตัวแปรในด้านจำนวนประชากร

การเพิ่มจำนวนประชากรในเอเธนส์นั้นนำมาซึ่งการขยายตัวของช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน

จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่ดินใหม่ และจากสภาพการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงสืบเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ปี 630-530 ก่อนคริสตกาล

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในช่วงระยะหนึ่งร้อยกว่าปีอันถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการกำเนิดประชาธิปไตยเอเธนส์และได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การปฏิรูปของโซลอน (Solon)

ในปี 594 ก่อนคริสตกาล วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมของเอเธนส์ที่ดำรงอยู่ทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง จนกระทั่งทั้งชนชั้นสูงและคนจนชนชั้นล่างส่วนใหญ่ต่างต่างเห็นพ้องต้องกันในการให้สิทธิ์อำนาจกับบุคคลคนหนึ่งในการที่จะหาทางประนีประนอมแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว

บุคคลผู้นี้คือโซลอน ผู้ซึ่งมีสถานะเป็นชนชั้นสูง แต่ก็เป็นที่ยอมรับนับถือจากคนทั้งสองชนชั้น

ในขณะที่เขาได้รับมอบอำนาจให้ปฏิรูปสังคมเอเธนส์นั้น โซลอนมีอายุประมาณไม่เกินสามสิบปีเท่านั้น

มาตรการสำคัญที่เขาใช้ในการปฏิรูปสภาพเศรษฐกิจการเมือง ได้แก่ การให้มีการนิรโทษกรรมทั่วไปแก่คนที่ต้องทำความผิดอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมที่ผ่านมา การยกเลิกการประกันการชดใช้หนี้สินด้วยการเป็นทาส การให้เสรีภาพแก่บรรดาผู้ที่ตกเป็นทาสเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ และรวมถึงความพยายามที่จะปลดปล่อยผู้ที่ถูกขายไปเป็นทาสในต่างแดน

และที่สำคัญก็คือ ยกเลิกการจ่ายค่าที่ดินที่ผู้อาศัยที่ทำกินต้องให้แก่เจ้าที่ดิน

แต่กระนั้น โซลอนก็มิได้ทำการปฏิรูปที่ดินตามที่มีการเรียกร้อง และยังคงยืนยันถึงการครอบครองที่ดินตามที่เป็นอยู่


นอกจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว โซลอนยังได้ปฏิรูประบบการบริหารงานยุติธรรม ตามหลักฐานที่บันทึกหลังสมัยของโซลอนได้กล่าวว่า เขาได้จัดตั้ง "ศาลประชาชน" ขึ้น (a people"s court) หรือที่เรียกว่า Heliaia และได้ให้สิทธิ์แก่ทุกฝ่ายในกรณีพิพาทที่จะอุทธรณ์ต่อ "ศาลประชาชน"

โซลอนยังได้ขยายสิทธิ์ทางกฎหมายในการฟ้องร้อง ซึ่งแต่เดิมนั้นจำกัดให้แต่เฉพาะผู้ที่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนโดยตรงเท่านั้น แต่โซลอนได้ให้สิทธิ์แก่คนทุกชนชั้นที่จะฟ้องร้องในฐานะตัวแทนของผู้เสียหาย หรือฟ้องในฐานะตัวแทนผู้ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะได้

นอกจากนี้ โซลอนยังได้ออกกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอเธนส์ใช้เป็นรากฐานทางกฎหมายต่อเนื่องไปอีกถึงสี่ร้อยปีจากนั้น นั่นคือ กฎหมายที่รู้จักเรียกขานกันว่า "กฎหมายของโซลอน" (the laws of Solon) เอเธนส์ได้ใช้กฎหมายของโซลอนมาจนกระทั่งในช่วงปี 410-399 ก่อนคริสตกาลจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข และได้บังคับใช้กฎหมายนี้ต่อไปจนกระทั่งสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์

กฎหมายของโซลอนนี้แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ กฎหมายเอกชน (private laws) กฎหมายอาญา (criminal law) และกฎหมายว่าด้วยกระบวนวิธี (law of procedure)

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นการปฏิรูปของโซลอนนี้ อแนคคาซิส (Anacharsis) ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับโซลอน หัวเราะเยาะการปฏิรูปของโซลอน ได้วิจารณ์ไว้ว่า เขาไม่เชื่อว่า วิกฤตการเมืองเอเธนส์จะสามารถแก้ไขได้เพียงแค่การออกกฎหมาย

เพราะเขาเห็นว่า "กฎหมายดังกล่าวมันเปรียบเสมือนใยแมงมุม (spider"s web) ที่สามารถจะหยุดได้เฉพาะแมลงเล็กๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือพวกคนที่มีจิตใจอ่อนแอ (the frail and weak) เท่านั้น แต่มันง่ายมากที่จะถูกฉีกขาดเป็นชิ้นๆ โดยคนร่ำรวยและทรงอำนาจ"
 

(Anacharsis laughed at Solon for supposing that his countrymen"s injustice and greed could be kept within bounds by means of written laws, which were more like spider"s webs than anything else ; he said that they would hold the weak and the small fry who might get entangled, but would be torn to pieces by the rich and the powerful.)

จากข้อวิจารณ์ของอแนคคาซิสนี้ พลูทาช (Plutarch)---นักบันทึกชีวประวัติผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นคริสตกาล (เกิดเมื่อ ค.ศ.45) ซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องราวของโซลอนและคำวิจารณ์ของอแนคคาซิส---ได้เขียนสนับสนุนคำวิจารณ์ดังกล่าวของอแนคคาซิส

เพราะเขาพบว่า ต่อมาหลังจากการปฏิรูปของโซลอน คนร่ำรวยและมีอำนาจก็ได้กลับมามีอำนาจครอบงำทางการเมืองอีกจริงๆ

แต่กระนั้น นักวิชาการในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความจริงมันได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่า โยงใย (web) แห่งกฎหมายและสถาบันทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการปฏิรูปของโซลอนเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจการเมืองของเอเธนส์นั้นกลับพิสูจน์ให้เห็นว่า มันมีความเหนียวแน่นทนทานเกินกว่าที่ใครจะคาดเดาได้ และมันก่อให้เกิดรากฐานสำคัญของโพลิสแห่งเอเธนส์อันเป็นชุมชนทางการเมืองของพลเมืองที่แข็งแกร่งเข้มแข็ง (active citizen)

แต่มันใช้เวลาอีกเกือบเก้าสิบปีก่อนที่แบบแผนอุดมคติ (the ideals) ที่เป็นรากฐานของรูปแบบทางการเมือง (politeia) ของโซลอนจะเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
 

แพทย์ พิจิตร