หน้าแรก
งานนิติการ
เปิด31ข้อ"จริยธรรม"
คุมมาตรฐาน "ขรก.การเมืองไทย" ฝ่าฝืนถึงขั้นถอดถอน
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว
หมายเหตุ :
เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
หน้า 9 เล่ม 125 ตอนพิเศษ
141 ง เมื่อวันที่ 22
สิงหาคมที่ผ่านมา
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองพ.ศ.2551
โดยที่มาตรา
279
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ
หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(8)
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
จึงวางระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง
พ.ศ.2551
ข้อ 2
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม
พ.ศ.2551 เป็นต้นไป
ข้อ 3
ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมือง
พ.ศ.2543
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
"ข้าราชการการเมือง"
หมายความว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
และข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง
ข้อ 5
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้
หมวด
1
ค่านิยมหลักของข้าราชการการเมือง
ข้อ
6
ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
รักษาประโยชน์ส่วนรวม ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก
ดังนี้
(1)
ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) ยึดมั่นคุณธรรมและจริยธรรม
(3) มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
(4)
ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
(5) ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
(6) ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย
และไม่เลือกปฏิบัติ
(7) ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง
และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
(8) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส
และตรวจสอบได้
(9) ยึดมั่นในหลักจรรยาของการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี
หมวด
2
มาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมือง
ข้อ
7 ข้าราชการการเมืองต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา
และพระมหากษัตริย์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ 8
ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
ข้อ 9
ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ข้อ 10
ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม
คุณธรรมและศีลธรรมทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน
ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน
ข้อ 11
ข้าราชการการเมืองต้องเคารพสิทธิ
เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ
อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด
ข้อ 12
ข้าราชการการเมืองต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ
และต้องถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด
ข้อ 13
ข้าราชการการเมืองต้องรับใช้ประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ
ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและปราศจากอคติ
ข้อ 14
ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม
ข้อ 15
ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ
แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง
และเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง
พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ข้อ 16
ข้าราชการการเมืองต้องไม่ยินยอมให้คู่สมรส ญาติสนิท
บุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของผู้อื่น
และต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบ
ข้อ 17
ข้าราชการการเมืองต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ
อาชีพหรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติสนิท
หรือบุคคลในครอบครัวของตนมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ 18
ข้าราชการการเมืองต้องรักษาความลับของราชการ
เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ข้อ 19
ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในกฎหมายและคำนึงถึงระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งผู้สมควรดำรงตำแหน่งต่างๆ
ข้อ 20
ข้าราชการการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้ว
ต้องไม่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตำแหน่งไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรเอกชน
ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาสองปีนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ 21
ข้าราชการการเมืองต้องเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้อำนาจในทางที่ผิด
การฉ้อฉล หลอกลวง
หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้ราชการเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
ข้อ 22
ข้าราชการการเมืองต้องไม่เรียกร้องของขวัญ ของกำนัล
หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ต่างๆ
อันอาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน และจะต้องดูแลให้คู่สมรส
ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย
ข้อ 23
ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติต่อองค์กรธุรกิจที่ติดต่อทำธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐตามระเบียบและขั้นตอนอย่างเท่าเทียมกัน
โดยไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อ 24
ข้าราชการการเมืองพึงพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
เอาใจใส่ทุกข์สุขและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและรีบหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อ 25
ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ข้อ 26
ข้าราชการการเมืองต้องรักษาทรัพย์สินของราชการและใช้ทรัพย์สินของราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ
เท่านั้น
ข้อ 27
ข้าราชการการเมืองต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ
ข้อ 28
ข้าราชการการเมืองต้องไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมายหรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย
เช่น
ผู้เปิดบ่อนการพนันหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ 29
ข้าราชการการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบตามควรแก่กรณีเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง
หมวด
3
การกำกับดูแล
ข้อ
30
นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของรัฐมนตรีและข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้
ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ ลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
ข้อ 31
รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการการเมืองอื่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติปฏิบัตตนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้
ให้รัฐมนตรีดำเนินการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
ถ้าปรากฏว่ารัฐมนตรีผู้ใดมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง
ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้รัฐมนตรีผู้นั้นดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 22 สิงหาคม
พ.ศ.2551
สมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรี